Putin, Vladimir Vladimirovich (1952-)

นายวลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน (พ.ศ. ๒๔๙๕-)

วลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน เป็นประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๘ และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกวาระใน ค.ศ. ๒๐๑๒ รวมทั้งเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง


ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ เขายังเป็นผู้นำพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย (United Russian Party) และหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของสหภาพแห่งรัสเซียและเบลารุส (Union of Russia and Belarus) ระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๘-๒๐๑๒ เมื่อประธานาธิบดีดิมีตรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev)* สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในต้น ค.ศ. ๒๐๑๒ ปูตินได้รับเสือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๒ ในช่วงเวลาที่ปูตินบริหารปกครองประเทศ เศรษฐกิจที่ถดถอยของรัสเซียฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีเสถียรภาพและระบอบประชาธิปไตยก็พัฒนาก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งรัสเซียกลับมามีบทบาทในทางการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* อดีตประธานาธิบดีของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics-USSR)* หรือสหภาพโซเวียตกล่าวยกย่องปูตินว่า เขานำรัสเซียออกจากกลียุคและเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์

 ปูตินเกิดในครอบครัวที่พอมีพอกินเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ ที่นครเลนินกราด [Leningrad ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)] วลาดีมีร์ สปีรีโดโนวิช ปูติน (Vladimir Spiridonovich Putin) บิดาเป็นทหารในกองทัพเรือในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ซึ่งในระหว่างสงครามเขาได้รับบาดเจ็บหลายครั้งจนขาพิการหลังสงครามเขาทำงานเป็นช่างในโรงงานเหล็กผลิตตู้รถไฟส่วนมาเรีย อีวานอฟนา ปูตินา (Maria Ivanovna Putina) มารดาเป็นคนงานที่มีอาชีพไม่แน่นอน และทำงานจิปาถะ ตั้งแต่เก็บกวาดถนน ขนขนมปัง ยามเฝ้าร้าน และอื่น ๆ ทั้งคู่แต่งงานกันขณะอายุ ๑๗ ปี มีบุตรชาย ๓ คน ปูตินเป็นบุตรคนสุดท้อง ซึ่งถือกำเนิดเมื่อมาเรียอายุ ๔๑ ปี บุตรชายคนโตและคนรองเสียชีวิตในวัยเด็ก บุตรคนโตเสียชีวิตเมื่อมีอายุเพียง ๒-๓ เดือน ส่วนบุตรคนรองเสียชีวิตด้วยโรคคอตีบในช่วงการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๔ ครอบครัวปูตินได้รับจัดสรร ห้องพักแบบคอมมูนจากที่ทำงานโดยอาศัยร่วมกับอีก ๒ ครอบครัวในบล็อกเดียวกัน ปูตินเป็นเด็กเพียงคนเดียวในกลุ่มครอบครัวที่อยู่ร่วมกันและได้รับความเอ็นดูจากทุกครอบครัว

 ปูตินเล่าว่าเขารู้จักญาติฝ่ายบิดามากกว่าฝ่ายมารดา ปู่ของเขาเป็นพ่อครัวที่มีฝีมือ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ปู่ถูกเรียกตัวให้ไปทำงานเป็นพ่อครัวประจำบ้านพักในชนบทที่เมืองกอร์กี (Gorky) ของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต และหลังอสัญกรรมของเลบินใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ก็ยังคงทำงานต่อให้กับนาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนิน ต่อมาปู่ไปเป็นพ่อครัวให้แก่โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ที่บ้านพักนอกกรุงมอสโก และจากนั้นก็เป็นพ่อครัวประจำบ้านพักในชนบทของคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สาขามอสโก ซึ่งปูตินในวัยเยาว์มักมาเยี่ยมปู่บ่อย ๆ งานของปู่จึงอาจมีส่วนทำให้ครอบครัวของปูตินได้รับความช่วยเหลือจากรัฐหลายด้าน บิดาจึงเชื่อมั่นในระบอบสังคมนิยมและเป็นคอมมิวนิสต์ที่จงรักภักดีต่อพรรค อย่างไรก็ตาม มารดาเป็นคนเคร่งศาสนาและเมื่อปูตินเกิด เธอแอบนำเขาไปทำพิธีรับศีลจุ่มและพยายามเลี้ยงดูเขาให้ศรัทธาในศาสนาโดยบิดาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ปูตินจึงไม่ต่อต้านเรื่องศาสนา แม้ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เมื่อภรรยาของเขาประสบอุบัติเหตุรถชนเกือบเสียชีวิตและใน ค.ศ. ๑๙๙๖ บ้านพักก็เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้จนทุกคนเกือบเสียชีวิต แต่ศรัทธาในศาสนาของเขายังคงมั่นคง นอกจากนี้ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกขณะเดินทางไปเยือนอิสราเอลซึ่งกำลังมีปัญหารุนแรงทางการเมือง มารดาได้ให้สร้อยคอห้อยไม้กางเขนเป็นเครื่องรางคุ้มกัน ปูตินก็ใส่สร้อยคอนี้โดยไม่เคยถอดออก และในเครื่องบินประจำตำแหน่งก็ยังมีพระคัมภีร์ไบเบิลด้วย

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๐ ปูตินในวัย ๘ ปี เข้าเรียนชั้นปีที่ ๑ ที่โรงเรียนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้าน เขาเห็นว่าตนเองอาวุโสกว่าเพื่อนร่วมชั้น เพราะโดยทั่วไปเด็กรัสเซียจะเข้าเรียนชั้นปีที่ ๑ เมื่ออายุ ๗ ปี เขาจึงแสดงความเป็นพี่ใหญ่ให้ทุกคนยำเกรงและได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ปูตินไม่ใส่ใจการเรียนเท่าใดนัก เพราะชอบทำตัวเป็นนักเลงเพื่อเป็นหัวหน้ากลุ่มและทำให้กลุ่มอื่น ๆ ยำเกรง เขาไปฝึกมวยสากลอยู่ระยะหนึ่งจากนั้นก็ไปเรียนแซมโบ (sambo) ซึ่งเป็นกีฬาป้องกันตัวที่ผสมผสานระหว่างยูโดกับมวยปลํ้า ต่อมาก็ไปเรียนยูโดด้วยซึ่งทำให้เขามีวินัยและเริ่มสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันออกแต่ด้วยนิสัยอันธพาลและผลการเรียนตํ่าทำให้ปูตินขาดคุณสมบัติที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การยุวชนผู้บุกเบิก (The Pioneers) ซึ่งเป็นองค์การของพรรคในการคัดเลือกยุวชนเพื่อเตรียมให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth League)* หรือองค์การคอมโซมอล (Komsomol)* การไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกจึงเท่ากับตัดโอกาสของความก้าวหน้าในชีวิตและการงานปูตินจึงกลับเนื้อกลับตัวและเลิกนิสัยอันธพาล ผลการเรียนของเขาเริ่มดีขึ้นและเมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๖ ก็ได้รับเข้าเป็นสมาชิกองค์การคอมโซมอลทั้งได้เป็นหัวหน้าองค์การที่ เขาสังกัดอยู่

 หลังจบชั้นมัธยมต้น ปูตินได้รับเลือกให้ไปเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเลนินกราด หมายเลข ๒๘๑ (Leningrad School 281) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์และรับเฉพาะนักเรียนระดับหัวกะทิเท่านั้น เขาชอบเคมีแต่ภายหลังหันมาเลือกชีววิทยาและศิลปศาสตร์ ขณะเดียวกันเขาทำงานที่สถานีวิทยุของโรงเรียนและชอบเปิดเพลงของนักร้องวงเดอะบีตเทิลส์ (The Beatles) และเพลงร็อกตะวันตก ครูและเพื่อน ๆ กล่าวว่า ปูตินเป็นนักเรียนอันดับต้น ๆ ของชั้น ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมุมานะและหากจะทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ เขาไม่แสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกทั้งไม่ชอบทำตัวเด่นเกินหน้าผู้อื่น แม้จะมีรูปร่างเล็กแตกแข็งแรงและเป็นแชมป์ยูโด ปูตินต้องการเป็นนักบินและโอกาสของเขาก็เป็นไปได้สูงเพราะครูสนับสนุน การเป็นนักกีฬาที่มีฝีมือทำให้เขาไม่ต้องสอบเข้าเรียนที่สถาบันการบินด้วยอย่างไรก็ตาม เมื่อเขามีโอกาสได้อ่านหนังสือและดูภาพยนตร์เกี่ยวกับจารชน ปูตินก็เปลี่ยนใจและตั้งปณิธานว่าจะเป็นจารชนให้ได้ เพราะเห็นว่าการเป็นจารชนไม่เพียงจะทำให้เห็นโลกกว้างเท่านั้น แต่ยังได้ทำงานคลุกคลีกับผู้คนทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งสามารถสร้างวีรกรรมได้ง่าย ปูตินจึงติดต่อหาข้อมูลจากหน่วยเคซีบี (KGB)* ประจำเมืองเลนินกราด และได้รับการชี้แจงว่าหน่วยงานจะไม่รับสมัครบุคลากรโดยตรงแต่จะเป็นฝ่ายไปคัดเลือกบุคลากรจากผู้ที่ผ่านการเกณฑ์ทหารและสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้วโดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตร์ ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ ปูตินจึงตัดสินใจที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลนินกราดโดยไม่ฟัง เสียงคัดค้านทั้งจากครูและครอบครัวที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่จากคณะนิติศาสตร์ รัฐบาลจะให้ทำงานเป็นตำรวจ แม้ปูตินจะอธิบายให้ทุกคนทราบว่าเขาจะไม่ยึดอาชีพตำรวจแตกไม่ยอมเปิดเผยว่าเขาต้องการเป็นจารชนและคาดหวังว่าจะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกจากเคจีบี

 ในช่วงเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ปูตินตั้งใจเรียนและได้คะแนนดีทุกวิชา เขายังเล่นยูโดและไปแข่งขันทั่วประเทศในนามมหาวิทยาลัย ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ เขาได้เป็นทั้งแชมป์ยูโดและแชมป์แซมโบแห่งเลนินกราด ในเวลาต่อมาเขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับยูโด ๒ เล่ม ชื่อ Judo with Vladimir Putin และ Judo: History, Theory, Practice ด้วยหน้าตาคมสัน เรียนเก่ง และเป็นนักกีฬาทำให้ปูตินเป็นที่หมายปองของสาว ๆ ในปีสุดท้ายของชีวิตนักศึกษา ปูตินมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักศึกษาแพทย์ชื่อลุดมีลา (Lyudmila) จนตกลงแต่งงานกัน แต่ก่อนวันแต่งงานปูตินก็บอกเลิกกะทันหันด้วยเหตุผลว่าเขายังไม่พร้อมสำหรับชีวิตครอบครัวเขากล่าวในเวลาต่อมาว่าการยกเลิกการแต่งงานดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ก่อนสำเร็จการศึกษาเล็กน้อย ปูตินได้รับการติดต่อจากเคจีบีและเขาเป็นเพียงคนเดียวจากบัญชีชื่อ ๑๐๐ คนที่เคจีบีเลือกเข้าทำงานด้วยเพราะเขามีความเหมาะสมที่สุดจากกลุ่มผู้สมัคร ทั้งมีความรู้รอบตัวดีและไม่แสดงอารมณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้ปฏิบัติงานเคจีบี

 ปูตินเริ่มงานจารชนโดยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างในหน่วยงานด้านข่าวกรองและได้รับหน้าที่ให้คอยสอดส่องติดตามชาวต่างชาติในเลนินกราด เขาเคร่งครัดในกฎระเบียบและปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอย่างดีจนได้รับยกย่องให้เป็นจารชนดีเด่นในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ เขาถูกส่งไปศึกษาต่อที่สถาบันเคจีบี ยูรี อันโดรปอฟ ธงแดง (Red Banner Yuri Andropov KGB) ที่กรุงมอสโกเพื่อเตรียมความพร้อมในการจะไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ เขาเรียนเข้มภาษาเยอรมันเพิ่มเติมและด้วยพื้นภาษาเยอรมันที่ดีอยู่แล้ว ปูตินจึงอ่านเขียน และพูดภาษาเยอรมันได้ดีและพูดโดยไม่มีสำเนียงต่างชาติปูตินชอบประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเยอรมันมากจนได้ชื่อว่าเป็น “นักเยอรมันนิยม” ทั้งเห็นว่าเยอรมนีเป็นชาติที่มีระเบียบวินัยและคนเยอรมันเป็นนักปฏิบัติ เขายกย่องและชื่นชมลุดวิก แอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard)* ที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ ปูตินยังชอบชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ผู้นำฝรั่งเศสที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระ ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ ปูตินแต่งงานกับลุดมีลา ชเครบเนวา (Lyudmila Shkrebneva) พนักงานต้อนรับสายการบินแอร์โรฟลอต (Aeroflot) ที่อายุน้อยกว่าเขา ๕ ปี หลังแต่งงานเขาสนับสนุนภรรยาให้เรียนต่อด้านการสอนภาษาสเปนและฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยเลนินกราด ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ปูตินได้บุตรสาวคนแรกและหลังจากนั้นไม่กี่เดือน เขาก็ถูกส่งไปปฏิบัติงานที่เยอรมนีตะวันออก ประจำหน่วยงานเคจีบีที่เมืองเดรสเดิน (Dresden) โดยเป็นสายลับอาวุโส ผู้ช่วยหัวหน้าแผนก และผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอาวุโสตามลำดับ งานหลักของเขาคือการหาแหล่งข่าวและสืบล้วงข้อมูลลับทางเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก และการจัดและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้แล้วส่งไปศูนย์กลางรวมทั้งรับผิดชอบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ ปูตินก็ได้บุตรสาวคนที่ ๒

 ปูตินทำงานในเยอรมนีตะวันออก ๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๘๕-๑๙๙๐) และในช่วงเวลาดังกล่าวสหภาพโซเวียตก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เนื่องจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยในทุก ๆ ด้าน นโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost) และเปเรสตรอยกา (Perestroika)* หรือที่เรียกกันทั่วไปว่านโยบายเปิด-ปรับของกอร์บาชอฟไม่เพียงจะเสริมสร้างบรรยากาศของสันติภาพและการผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente)* ทางการเมืองโลกซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของภาวะสงครามเย็น (Cold War)* เท่านั้นแต่ยังมีส่วนทำให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) เคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตด้วย แม้เอริค โฮเนคเคอร์ (Eric Honecker)* ผู้นำเยอรมนีตะวันออกจะพยายามควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนและให้อำนาจตำรวจลับยิงและฆ่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้อย่างอิสระ แต่กระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปที่เกิดขึ้นทั่วประเทศยุโรปตะวันออกอย่างต่อเนื่องและรุนแรงก็ส่งผลกระทบต่อเยอรมนีตะวันออก จนนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออกและการพังทลายกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ ปูตินเล่าว่าในวันที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำงานจารชนของเขาในเยอรมนีตะวันออกประชาชนได้มาปิดล้อมที่ทำการของหน่วยงานโซเวียตและพยายามบุกเข้ามา เขาขอให้ทหารโซเวียตเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่ได้รับการปฏิเสธในชั้นต้นเพราะไม่มีคำสั่งมาจากมอสโก และเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากนั้นที่ทหารได้มาช่วยสลายการชุมนุมซึ่งก็ใช้เวลานาน ในช่วงเวลานั้น เขาตระหนักว่าสหภาพโซเวียตกำลังสูญเสียบทบาทความเป็นมหาอำนาจ และเห็นว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสหภาพโซเวียตรีบถอนตัวออกจากประเทศยุโรปตะวันออกเร็วเกินไปซึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมา

 เมื่อปูตินกลับมาสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๙๐ เขายังคงทำงานให้กับเคจีบี และลาออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ หลังเหตุการณ์ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจกอร์บาชอฟของกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์และเคจีบี ในช่วงนั้นเขากลับไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยเลนินกราด ทั้งทำงานเป็นผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศของมหาวิทยาลัยเลนินกราดปูตินได้มีโอกาสได้พบกับศาสตราจารย์อะนาโตลี ซอบชัค (Anatoly Sobchak) ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายเศรษฐศาสตร์แก่เขา ซอบชัคซึ่งขณะนั้นเป็นนักการเมืองและประธานสภาเมืองเลนินกราดกำลังหาผู้ช่วยทำงานในด้านการติดต่อกับผู้คนและการต่างประเทศ เขาพอใจปูตินเพราะเห็นว่ามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยตะวันตก และเป็นคนสุขุม ใจเย็นที่สามารถทนความกดดันได้ในทุกสถานการณ์ เขาจึงต้องการให้ปูตินมาร่วมทีมงานด้วยหลังปูตินร่วมงานกับซอบชัคได้ไม่นานนัก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ ชอบชัคก็ได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก “เลนินกราด” กลับมาเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑) ซอบชัคซึ่งเป็นผู้วางโครงการปฏิรูปการปกครองและพัฒนาเมืองให้ทันสมัยได้แต่งตั้งปูตินเป็นหัวหน้าคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนรูปโฉมของนครเซนต์ปีเตอร์สเบีร์กใหม่ให้เป็นมหานครแห่งยุโรปเหนือ

 งานหลักของปูตินคือการโน้มน้าวจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเซนต์ปีเตอร์สเบีร์ก ทักษะภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาเยอรมันมีส่วนช่วยเขาอย่างมาก เพราะเขาสามารถทำให้ธนาคารเยอรมันหลายแห่งเข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในเซนต์ปีเตอร์สเบีร์ก ปูตินยังผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการลงทุนต่าง ๆ ขึ้นในบริเวณรอบนอกเมืองเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาตั้งโรงงานและดำเนินธุรกิจ เขายังรื้อฟื้นโครงการเคเบิลเส้นใยนำแสงเซนต์ปีเตอร์สเบีร์ก-โคเปนเฮเกนซึ่งค้างมาตั้งแต่สมัยกอร์บาชอฟมาทำใหม่จนสำเร็จ ซึ่งส่งผลให้การสื่อสารทางโทรศัพท์ของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้มาตรฐานสากลและทันสมัย งานสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การโอนธุรกิจโรงแรมที่รัฐควบคุมให้เอกชนดำเนินการ และการจัดระเบียบธุรกิจการพนันของกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองและสังคม ปูตินผลักดันให้ออกเทศบัญญัติให้สถานการพนันดำเนินการแบบบริษัทหุ้นส่วนโดยเทศบาลเมืองถือหุ้นรายใหญ่ร้อยละ ๕๑ ที่เหลือเป็นของผู้ประกอบการเอกชน นอกจากนี้ เขายังเสนอให้จัดตั้งคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นในมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกิจการระหว่างประเทศสำหรับรองรับตลาดการค้าระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาเติบโต ซึ่งซอบชัคก็เห็นชอบอย่างมาก

 การทำงานอย่างจริงจังด้วยความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพทั้งไม่เคยปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายทำให้ซอบชัคไว้วางใจปูตินมาก และมักให้รักษาการแทนในช่วงที่เขาไม่อยู่ ซอบชัคยังลงนามในกระดาษเปล่าให้ไว้กับปูติน โดยอนุญาตให้เขาพิมพ์งานเร่งด่วนที่ต้องการลายเซ็นของนายกเทศมนตรีได้ทันที ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ซอบชัคแต่งตั้งปูตินเป็นรองนายกเทศมนตรี แม้ปูตินจะมีบทบาทและอำนาจมากขึ้น แต่เขาก็ระมัดระวังตัวโดยไม่พยายามทำตัวเป็นข่าวหรือแสดงตัวให้สาธารณชนได้เห็นมากนัก ผิดกับรองนายกเทศมนตรีและผู้ช่วยนายกเทศมนตรีคนอื่น ๆ ที่ชอบปรากฏตัวเคียงข้างซอบชัคและให้ข่าวแก่สื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ทั้งซอบชัคและปูตินก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้จะไม่มีหลักฐานที่มัดตัวแต่ก็ส่งผลให้ซอบชัคแพ้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๙๖ และปูตินว่างงานเป็นเวลาหลายเดือน วลาดีมีร์ ยาคอฟเลฟ (Vladimir Yakovlev) นายกเทศมนตรีคนใหม่ซึ่งเคยเป็นรองนายกเทศมนตรีของซอบชัคต้องการให้ปูตินทำงานกับเขาในตำแหน่งเดิม แต่ปูตินปฏิเสธเพราะเห็นว่ายาคอฟเลฟเป็นคนทรยศต่อซอบชัคและพรรคพวก ทั้งยังใช้วิธีการสกปรกใส่ร้ายป้ายสีซอบชัคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งจึงไม่อาจร่วมงานกันได้

 ปูตินว่างงานได้ไม่นานนักก็ได้รับการติดต่อให้ไปเป็นรองหัวหน้าสำนักงานบริหารทรัพย์สินประธานาธิบดี (Deputy Chief of the Presidential Property Management Department) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๖ และอยู่ในตำแหน่งจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ หน้าที่สำคัญคือการดูแลงานบริหารด้านกฎหมายและทรัพย์สินในต่างประเทศของรัสเซีย โดยยักย้ายถ่ายเทเงินทองและทรัพย์สินของรัสเซียจากประเทศพันธมิตรที่หน่วยงานของรัสเซียเคยตั้งอยู่และปิดไปแล้วเข้าประเทศ เขาทำงานได้ดีและหลังเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้างานควบคุมสำนักงานบริหารทรัพย์สินประธานาธิบดี (Chief of the Main Control Directorate of the Presidential Property Management Department) และรองหัวหน้าสำนักประธานาธิบดี (Deputy Chief of Presidential staff) ตามลำดับ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* ประธานาธิบดียังได้แต่งตั้งปูตินเป็นผู้อำนวยการกิจการรักษาความมั่นคงของสหพันธ์ (Federal Security Service-FSB)* โดยไม่ได้สอบถามความสมัครใจหรือบอกให้ปูตินทราบมาก่อนซึ่งแสดงว่า เยลต์ซินไว้วางใจปูตินมาก นอกจากนี้ ปูตินยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกถาวรและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (Security Council of the Russian Federation) โดยดูแลงานด้านการข่าวเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของประเทศทั้งหมด

 ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในวิกฤตการณ์คอซอวอ (Kosovo)* และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๗-๑๙๙๘ ทำให้ความนิยมของประชาชนต่อประธานาธิบดีตกตํ่าลง เยลฅ์ซินจึงแต่งตั้งเยฟเกนี ปรีมาคอฟ (Yevgeny Primakov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นนายกรัฐมนตรี ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ เพื่อให้แก่ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปรีมาคอฟ สามารถทำให้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและอัตราเงินเฟ้อลดลงทั้งการจ้างงานสูงขึ้น เขาได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนมากขึ้นจนกล้าดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างอิสระโดยไม่ต้องปรึกษาหรือขอความเห็นจากประธานาธิบดี ปรีมาคอฟจึงกลายเป็นคู่แข่งทางอ้อมของเยลต์ซินในการจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นใน ค.ศ. ๒๐๐๐ เมื่อปรีมาคอฟ พยายามโจมตีปูตินเพื่อยึดองค์การกิจการรักษาความมั่นคงของสหพันธ์มาอยู่ใต้การควบคุมของเขาโดยให้รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทยเพื่อจะใช้เป็นฐานกำลังในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เยลต์ซินชี่งไม่สามารถควบคุมปรีมาคอฟได้จึงตัดสินใจปลดเขาออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งเซียร์เกย์ สเตปาชิน (Sergei Stepashin) รองนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน อย่างไรก็ตาม สเตปาชินอยู่ในตำแหน่ง ได้เพียง ๓ เดือนก็ถูกปลดและปูตินได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสืบแทนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๖ ของเยลต์ซิน เยลต์ซินประกาศให้ประชาชนทราบว่าปูตินคือทายาททางการเมืองของเขา และในหนังสือบันทึกความทรงจำที่พิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมาเยลต์ซินบอกเล่าว่า การเลือกปูตินเพราะเขาซื่อสัตย์ มีวินัยและจริยธรรมสูง ฉลาด อดทน และมีไหวพริบดีทั้งรักในเกียรติยศและไม่มีความทะเยอทะยาน

 ปูตินเริ่มงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการแก้ปัญหาเชชเนีย (Chechnya) ที่ยืดเยื้อให้ยุติลงอย่างเด็ดขาดในเวลาที่รวดเร็ว เพราะเห็นว่ากลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวเชเชน ที่บุกเช้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของสาธารณรัฐดาเกสถาน (Dagestan Republic) เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐอิสลามแต่ล้มเหลวได้ทำให้สงครามเชชเนียครั้งที่ ๒ ปะทุขึ้น และส่งผลกระทบ ต่อความมั่นคงของรัสเซียโดยรวม เขาเรียกประชุมผู้นำฝ่ายกองกำลังและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในแนวนโยบายและการร่วมมือกัน ปูตินยังออกรายการโทรทัศน์ประณามการวางระเบิดที่พัก ๔ แห่งในกรุงมอสโก เขากล่าวว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในกรุงมอสโกเป็นฝีมือของกบฏเชชเนียที่จำเป็นต้องตามล่าและทำลายล้างอย่างไม่ลดละ หากเจอที่ไหนก็ต้องกำจัดที่นั่น หากเจอในส้วม (หลุม) ก็ต้องฆ่าหมกส้วมด้วย ถ้อยคำที่ถึงใจผู้ฟังอย่างมากดังกล่าวทำให้คะแนนนิยมของปูตินจากโพลล์สำนัก ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นสูงมาก และประชาชนร้อยละ ๗๐ เห็นว่าเขาเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ ความนิยมของประชาชนดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีเยลต์ซินซึ่งมีปัญหาสุขภาพตัดสินใจลาออกก่อนหมดวาระเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ และเปิดโอกาสให้ปูตินทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี ๓ เดือน ในวันเดียวกับที่เยลต์ซินลาออก ปูตินก็ลงนามในกฤษฎีกาให้สวัสดิการแก่อดีตประธานาธิบดีด้วยบำนาญที่สูงที่พักอาศัย ยานพาหนะ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอื่น ๆ รวมทั้งยกเว้นความผิดทุกกรณีที่อดีตประธานาธิบดีและครอบครัวได้ก่อขึ้นสมัยดำรงตำแหน่ง

 ในช่วงรักษาการประธานาธิบดี ปูตินให้รัฐเข้าควบคุม อินเทอร์เน็ตโดยใช้เป็นเครื่องมือสอดส่องการกระทำและความคิดเห็นของประชาชน และยังแก้ไขกฎหมายให้ตำรวจและหน่วยงานเอฟเอสบีมีอำนาจตรวจสอบไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนได้ เขายังควบคุมการเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามเชชเนีย และเพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศตลอดจนกำหนดการฝึกทหารกองหนุนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จ่ายเงินบำนาญและเงินเดือนคนงานที่รัฐเคยติดหนี้ทั้งหมดให้ซึ่งทำให้ปูตินได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น ปูตินยังสร้างพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองเล็ก ๆ อื่น ๆ ในสภาดูมา (Duma)* จนสามารถคุมเสียงในรัฐสภาได้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ ปูตินในวัย ๔๗ ปีจึงมีคะแนนนำเหนือผู้สมัครคนอื่น ๆ ทั้ง ๒ รอบและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๒ ของประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๐

 ในปีเดียวกับที่ปูตินก้าวสู่อำนาจ คริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ก็สถาปนาซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* ซาเรวิชอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช (Alexei Nikolayevich)* และพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์เป็นนักบุญในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ การสถาปนาดังกล่าว จึงเป็นการฟื้นฟูพระเกียรติยศอันสูงสุดของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* และมีส่วนทำให้การชื่นชมซาร์กลับมาเป็นกระแสสำคัญในการเมืองและสังคมรัสเซียอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์คุรสค์ (Kursk) ของรัสเซียก็ประสบอุบัติเหตุหลังการซ้อมรบจมลงในทะเลแบเรนตส์ (Barents) ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ ทั่วโลกให้ความสนใจข่าวดังกล่าวแต่ในชั้นต้นปูตินไม่ยอมให้นานาประเทศมีส่วนร่วมช่วยเหลือกู้ชีพลูกเรือที่ติดอยู่ในเรือทั้งดำเนินการอย่างล่าช้าจนลูกเรือทั้ง ๑๑๘ นายเสียชีวิตหมด ปูตินซึ่งกำลังพักร้อนบริเวณใกล้ ๆ ทะเลดำในช่วงที่เกิดเหตุและเดินทางกลับกรุงมอสโกหลังเรือดำนํ้าคุรสค์จมไปแล้ว ๔ วัน จึงถูกวิจารณ์โจมตีอย่างมากและกรณีเรือดำนํ้าคุรสค์ นับเป็นวิกฤตการณ์ภายในครั้งแรกที่เขาดำเนินการผิดพลาด

 เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ในสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มก่อการร้ายของขบวนการอัลกออิดะห์ (Al Qa’ida) บังคับเครื่องบินโดยสาร ๒ ลำ บินชนอาคารแฝด เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กถล่มทลาย ปูตินเป็นผู้นำคนแรก ๆ ที่ประกาศร่วมมือสนับสนุนประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) แห่งสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้ายและการทำสงครามในอัฟกานิสถานเพื่อตามจับอุซามะ บิน ลาเดน (Osama bin Laden) ผู้นำขององค์การก่อการร้ายที่มีเครือข่ายทั่วโลก เหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายนได้เปิดโอกาสให้รัสเซียมีบทบาทในเวทีการเมืองโลกโดยไม่เผชิญกับการต่อต้านภายในประเทศปูตินเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS)* และทำให้รัสเซียมีบทบาทเป็นผู้สร้างเสถียรภาพในความขัดแย้งระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในดินแดนที่เป็นเขตอิทธิพลและผลประโยชน์ของรัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมตัวทางการเมืองเพื่อความมั่นคงร่วมกัน เช่น การจัดตั้งสหภาพรัสเซีย-เบลารุสเพื่อเป็นแนวทางการรวมตัวของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชขึ้นในวันข้างหน้า นอกจากนี้ ปูตินยังแสดงความเด็ดขาดในการตัดสินปัญหาเกี่ยวกับการเก็บรักษาศพของเลนินซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่ยืดเยื้อกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๕ ว่าควรจะนำศพเลนินไปฝังหรือไม่ ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการเก็บรักษาศพสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลและเห็นชอบที่จะให้นำศพเลนินไปฝัง แต่จำนวนไม่น้อยก็เห็นว่าศพชองเลนินคือสัญลักษณ์ของประเทศปูตินได้ตัดสินใจเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ ให้ยังคงรักษาศพของเลนินไว้เพราะเลนินคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โซเวียต การรักษาศพเขาจะทำให้ชาวโซเวียตที่มีชีวิตอยู่ในสมัยคอมมิวนิสต์ยังคงเชื่อมั่นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

 ระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๒-๒๐๐๓ เมื่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษประกาศสงครามกับอิรักเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีซัดดาม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ด้วยข้ออ้างมีอาวุธร้ายแรงในครอบครอง รัสเซียไม่เห็นด้วยเพราะอิรักเป็นพันธมิตรของตนมาก่อน ปูตินจึงสนับสนุนมติขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ในการคัดค้านสงครามฝรั่งเศสและเยอรมนีก็เห็นด้วยกับรัสเซีย หลังการโจมตีอิรักได้ ๑ ปี ปูตินซึ่งต้องการให้สหประชาชาติถ่วงดุลบทบาทการชี้นำฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกาจึงเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าไปรักษาความสงบและจัดระบบการบริหารประเทศอิรักหลังการสิ้นอำนาจของประธานาธิบดีฮุสเซน นอกจากนี้ ปูตินได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยุโรปตะวันตกเพื่อนำพารัสเซียให้เป็นส่วนหนึ่งของยุโรปรวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ญี่ปุ่น และอินเดียด้วย ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ปูตินเดินทางมาประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และนับเป็นการเยือนครั้งแรกของผู้นำระดับประเทศของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประมุขของทั้ง ๒ ประเทศได้พบกันเป็นครั้งแรกเหมือนเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและซาร์นิโคลัสที่ ๒ ได้ทรงพบกันที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกว่า ๑ ศตวรรษที่ผ่านมาต่อมาในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างเป็นทางการและนับเป็นการเสด็จ ฯ ในระดับประมุขของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๑๐ ปี ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสองแนบแน่นขึ้น

 ปูตินประสบความสำเร็จอย่างมากในการบริหารปกครองประเทศสมัยแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๔ เขาได้รับยกย่องเป็นนักการเมืองดีเด่นประจำปีติดต่อกันถึง ๕ ปี เศรษฐกิจของประเทศที่พื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและการกลับมามีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งทำให้ปูตินเป็นที่ชื่นชมและยอมรับจากประชาชนมากขึ้นทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปก็สนับสนุนให้สหพันธรัฐรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO)* และเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลาย ค.ศ. ๒๐๐๓ ถึงต้น ค.ศ. ๒๐๐๔ ปูตินได้สร้างชื่อเสียงด้วยการออกคำสั่งจับกุมมีฮาอิล โคดอร์คอฟสกี (Mikhail Khodorkovsky) นักธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศด้วยข้อหาหลบเลี่ยงภาษีและทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย การจับคุมโคดอร์คอฟสกีและการบีบบังคับให้เขาจ่ายภาษีย้อนหลังรวมทั้งการสอบสวนบริษัทยูคอส (Yukos) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตนํ้ามันรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่โคดอร์คอฟสกีเป็นเจ้าของจึงมีนัยว่ารัฐบาลกำลังเริ่มนโยบายต่อด้านกลุ่มคณาธิปไตยในวงการธุรกิจต่าง ๆ และมุ่งกำจัดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในการใช้อำนาจทางการเงินและอิทธิพลเพื่อผูกขาดวิถีและวงจรทางเศรษฐกิจของประเทศ สาธารณชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับนโยบายของรัฐบาลเพราะเห็นว่ากลุ่มคณาธิปไตยเป็นพวกโกงกินและปล้นทรัพย์สินของชาติ

 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามปูตินและสื่อมวลชนต่างประเทศกลับเห็นว่าการจับกุมโคดอร์คอฟสกีและการสืบสวนบริษัทยูคอสเป็นการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐเพื่อตัดตอนทางการเมืองครั้งสำคัญ เพราะปูตินหวาดวิตกว่าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาดูมาและประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึง โคดอร์คอฟสกีซึ่งสนับสนุนเงินแก่พรรคการเมืองอื่น ๆ กำลังใช้อิทธิพลทางการเมืองเพื่อแข่งขันกับปูติน การกำจัดกลุ่มทุนหรือนักธุรกิจที่รํ่ารวยที่มีเจตจำนงจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองจึงเป็นทางเลือกของประธานาธิบดีในการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อรักษาอำนาจการปกครองของตนไว้ ปูตินลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ ๒ และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๗๑ ของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ ประชาชนทั่วไปต่างศรัทธาและเชื่อมั่นว่าเขาจะทำให้ระบอบทุนนิยมและประชาธิปไตยที่เพิ่งหยั่งรากลึกลงบนแผ่นดินรัสเซียเติบโตและงอกงามขึ้น และรัสเซียจะยืนผงาดได้อย่างองอาจและมั่นคงอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษ ที่ ๒๑ ที่กำลังเริ่มต้น

 ในสมัยที่ ๒ ของการบริหารประเทศ (ค.ศ. ๒๐๐๔-๒๐๐๘) ปูตินยังคงประสบความสำเร็จในการปกครองประเทศและเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจของรัสเซียขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจน ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจโลกและมีเงินตราสำรองต่างประเทศเป็นอันดับ ๓ ของโลกโดยลือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ประมาณ ๑.๔ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “BRIC” ปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากนํ้ามันดิบที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่สุดนอกกลุ่มโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries-OPEC) มีราคาสูงขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๔ ในอัตรา ๔๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลและเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ รัสเซียจึงนำรายได้จำนวนมหาศาลส่วนนี้ไปใช้หนี้ต่างประเทศและส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น ๖ เท่าซึ่งทำให้รัสเซียที่เคยอยู่ในอันดับ ๒๒ ของโลกจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไต่อันดับเป็นอันดับ ๑๐ ความเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้รายได้แท้จริงของประชาชนเพิ่มขึ้น ๒ เท่า และรายได้ต่อเดือนเพิ่มสูง ๗ เท่าจาก ๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๕๔๐ ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งประชากรที่มีรายได้ตํ่ากว่าระดับยากจนลดลงจากร้อยละ ๓๐ ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ เหลือเพียงร้อยละ ๑๔ ใน ค.ศ. ๒๐๐๘ นอกจากนี้ ปูตินยังประกาศจะพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศและฟื้นฟูอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ตลอดจนการริเริ่มการก่อสร้างท่อส่งออกพลังงานหลายแห่ง

 ปูตินสานต่อนโยบายด้านต่างประเทศด้วยการพยายามแสดงบทบาทในด้านต่าง ๆ ในเวทีโลกมากขึ้นและเน้นความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปทั้งสนับสนุนการขยายสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union)* และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* ปูตินต้องการให้รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป เพราะถือว่ารัสเซียเป็นยุโรป แต่การที่ยุโรปยังคงต่อต้านรัสเซียเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมบุษยชนและการที่ทหารรัสเซียใช้ความรุนแรงกับพลเรือนในสงครามเชชเนีย ทำให้แผนการนำรัสเซียเช้าสู่ยุโรปยังคงมีอุปสรรค ปูตินจึงหันมากระชับความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่น และอินเดียเพื่อสร้างแนวร่วมใหม่ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ รัสเซียร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เพื่อลดปริมาณก๊าชเรือนกระจกในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายเด็ดขาดกับขบวนการก่อการร้ายภายในประเทศและต่อการแยกตัวของเชชเนียด้วยความระมัดระวัง โดยถือว่าเป็นปัญหาการเมืองภายในและไม่ต้องการให้ประเทศตะวันตกหรือองค์การระหว่างประเทศเข้ายุ่งเกี่ยวกับปัญหาเขชเนีย ปูตินมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่แนบแน่นกับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช แต่ยังคงพยายามรักษาอิทธิพลอำนาจของตนไว้ในประเทศเหล่านั้น ขณะเดียวกันเขาพยายามผลักดันการจัดตั้งสหภาพยูเรเซีย (Eurasia Economic Union-EEU) หรือ EurAsEC โดยโน้มน้าวให้คาซัคสถาน (Kazakhstan) และเบลารุสร่วมกันสร้างสหภาพศุลกากรที่ลดกำแพงภาษีระหว่างกันโดยยึดแนวทางการดำเนินงานของสหภาพยุโรปเป็นแม่แบบ ปูตินยังคาดหวังว่าในเวลาต่อมายูเครนจะเข้าร่วมด้วย

 ในปลาย ค.ศ. ๒๐๐๔ ถึงต้น ค.ศ. ๒๐๐๕ ปูตินได้เข้าแทรกแซงการเมืองภายในของสาธารณรัฐยูเครน (Ukraine)* ด้วยการประกาศสนับสนุนวิคตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ซึ่งมีนโยบายผูกมิตรกับรัสเซียและสนับสนุนการรวมยูเครนเข้ากับรัสเซียในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับวิคตอร์ ยูเชนโค (Viktor Yushenko)* ซึ่งมีนโยบายสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกมากกว่ารัสเซีย ปูตินเดินทางมาเยือนยูเครนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและส่งกลุ่มที่ปรึกษาทางการเมืองมาช่วยวางแผนหาเสียงและการโฆษณาประชาสัมพันธ์รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือจำนวนมากในการหาเสียง การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ได้นำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เรียกว่าการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution)* โดยผู้สนับสนุนยูเชนโคใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ยูเชนโค มีชัยชนะซึ่งมีส่วนทำให้ปูตินไม่พอใจเพราะไม่ต้องการให้ยูเครนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก

 แม้ปูตินจะทำให้รัสเซียเป็นสังคมที่มีเสถียรภาพและมีเศรษฐกิจที่มั่นคง ทั้งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้นทางด้านต่าง ๆ แต่สื่อมวลชนต่างประเทศเห็นว่ารัฐบาลยังคงควบคุมสื่อมวลชนและมักใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงโน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชนไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการโดยเฉพาะปัญหาเชชเนีย การพยายามขุดคุ้ยและเปิดโปงนโยบายของรัฐบาลต่อเชชเนียและมาตรการความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนเชชเนียได้ทำให้นักข่าวชาวรัสเซียจำนวนมากถูกคุกคามและเสียชีวิตในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ แอนนา โปลิคอฟสกายา (Anna Politkovskaya) นักข่าวสาวที่ตีแผ่เรื่องราวการฉ้อฉลในกองทัพและการใช้ความรุนแรงของฝ่ายทหารในเชชเนียถูกยิงเสียชีวิตในบ้านพัก การเสียชีวิตของแอนนาทำให้ปูตินถูกสื่อต่างประเทศโจมดือย่างมาก และฝ่ายต่อต้านเขาเห็นว่าปูตินยังคงใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศ ระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๖-๒๐๐๗ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงตามเมืองต่าง ๆ และรัฐบาลก็ปราบปรามอย่างเด็ดขาด

 ในการหยั่งเสียงของประชาชนทุกครั้งปูตินยังคงได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง คะแนนความนิยมต่อเขาไม่เคยตํ่ากว่าร้อยละ ๖๕ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๗ เขาได้คะแนนหยั่งเสียงถึงร้อยละ ๘๑ ซึ่งสูงกว่าผู้นำประเทศใด ๆ ในโลกที่เคยได้รับ ผลการหยั่งเสียงความนิยมในด้านการบริหารปกครองประเทศปรากฏว่า ชาวรัสเซียจำนวนมากเห็นว่าในช่วงสมัยปูตินประเทศมีความเป็นประชาธิไม่ไตยมากยิ่งกว่าในสมัยเยลต์ซินและสมัยกอร์บาชอฟ ทั้งมีสิทธิมนุษยชนมากกว่าด้วยเช่นกัน นิตยสาร Times ของสหรัฐอเมริกายกย่องปูตินให้เป็นบุคคลสำคัญของ ค.ศ. ๒๐๐๗ ด้วยเหตุผลว่าเขานำประเทศฝ่าพ้นกลียุคไปสู่ความมีเสถียรภาพ และใน ค.ศ. ๒๐๐๘ Times ยกย่องปูตินเป็น ๑ ใน ๑๐๐ คนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อโลก ทั้งให้สมญาเขาว่า “ซาร์แพ่งรัสเซียใหม่” นอกจากนี้ ปูตินยังได้รับอิสริยาภรณ์และเหรียญเกียรติยศสูงสุดสำหรับพลเรือนจากสถาบันและประเทศต่าง ๆ อีกมากอดีตประธานาธิบดีกอร์บาชอฟกล่าวชื่นชมปูตินว่าเขานำรัสเซียออกจากความสับสนอลหม่านจนมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ ความนิยมของประชาชนต่อปูตินปรากฏให้เห็นทั่วไปจากภาพถ่ายต่าง ๆ ของเขาในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งปูตินสร้างภาพลักษณ์ของชายทรหดที่เป็นนักกีฬาแข็งแรงที่ชอบกีฬาผาดโผนอันตราย หนังสือพิมพ์ข่าวชุบซิบ Komsomolskaya Pravda ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ซึ่งตีพิมพ์ ภาพสีขนาดใหญ่ของปูตินเปลือยอกในขณะพักผ่อนที่เทือกเขาแถบไซบีเรีย และใต้ภาพบรรยายว่า “จงเป็นแบบปูติน” (Be like Putin) ขายดิบขายดีจนต้องพิมพ์ซํ้า นอกจากนี้ วารสารผู้หญิงหลายฉบับได้สำรวจความเห็นของผู้หญิงเกี่ยวกับปูติน และผลปรากฏว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นว่า ปูตินเป็นคนมีเสน่ห์และดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม ชื่อของปูตินและภาพลักษณ์ของเขาจึงถูกนำไปเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสินค้าต่าง ๆ เป็นต้นว่าเหล้าวอดก้า ปูติน (Putinka vodka) อาหารกระป๋องปูติน คาร์เวียปูติน เสื้อยืด และอื่น ๆ

 ในกลาง ค.ศ. ๒๐๐๗ ปูตินให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ต่างประเทศเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเขากล่าวว่าช่วงการดำรงตำแหน่งจะเป็นวาระ ๕ ปี ๖ หรือ ๗ ปี ก็เหมาะสมทั้งนั้น เพราะจะเปิดโอกาสให้มีเวลาการทำงานเต็มที่ คำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีได้ทำให้คาดการณ์กันทั่วไปว่าปูตินอาจลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่งแต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญห้ามการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า ๒ วาระ ฝ่ายตรงข้ามปูตินจึงคาดว่าปูตินอาจผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เขาได้ลงแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง และโจมตีประธานาธิบดีด้วยข้อหาว่า เขาแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่ตรงกับข้อเท็จจริงโดยมีทรัพย์สินมากกว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นทรัพย์สินที่เขาฉ้อราษฎร์บังหลวงและแสวงหาผลประโยชน์ใส่กระเป๋าตนเองและพวกพ้อง แต่ปูตินตอบโต้ว่าเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน และอ้างว่าเขารํ่ารวยที่สุดในศรัทธาความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อเขาในฐานะผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นรัสเซีย แม้การตอบโต้ของปูตินจะสยบข่าวเรื่องความรํ่ารวยไปได้บ้าง แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ยังคงค้างคาใจประชาชน

 ในเดือนตุลาคมต่อมา ปูตินสร้างความประหลาดใจแก่สาธารณชนด้วยการประกาศว่าเขาจะเป็นผู้นำของพรรคยูไนเต็ดรัสเซียที่จะลงแข่งขันในการเลือกตั้งผู้แทนสภาดูมาในการเลือกตั้งสภาดูมาเดือนธันวาคม ผลปรากฏว่าพรรคยูไนเตดรัสเซียได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ ๖๔.๒๔ ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งและได้ที่มั่งรวม ๓๑๔ ที่นั่งจาก ๔๕๐ ที่นั่งในสภาดูมา พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีชัยชนะเป็นอันดับ ๒ ได้คะแนนเพียงร้อยละ ๑๒ คิดเป็น ๕๗ ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคประชาธิปไตยเสรีแห่งรัสเซีย (Liberal Democratic Party of Russia-LDPR) ได้ ๔๐ ที่นั่ง และพรรคยุติธรรมรัสเซีย (Justice Russia) ได้ ๓๘ ที่นั่ง

 หลังชนะการเลือกตั้ง ปูตินประกาศสนับสนุนดิมีตรี เมดเวเดฟ รองประธานาธิบดีวัย ๔๒ ปี ซึ่งใกล้ชิดกับเขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจในการลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๘ เมดเวเดฟมีชัยชนะอย่างท่วมท้นโดยได้คะแนนเสียงร้อยละ ๗๐.๒ และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๘ ในวันรุ่งขึ้นอดีตประธานาธิบดีปูตินก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ปูตินได้แถลงนโยบายต่อสภาดูมาในวันเดียวกันว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายตามคำบัญชาของประธานาธิบดีและร่วมมือกับสภาดูมาและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ ค.ศ. ๒๐๒๐” (On the Strategy of Russian’s Development Unit 2020) ตามที่เคยแถลงไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๘ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตเข้มแข็งจนถึง ค.ศ. ๒๐๒๐ เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก และการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ การปรับปรุงระบบภาษีและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนและอื่น ๆ ตลอดจนการพัฒนาด้านสังคม ความมั่นคง และการปฏิรูประบบราชการ

 ในสมัยประธานาธิบดีเมดเวเดฟ (ค.ศ. ๒๐๐๙-๒๐๑๒) การดำเนินนโยบายภายในและต่างประเทศเป็นการสานต่อจากนโยบายเดิมที่ปูตินได้วางไว้ แม้เมดเวเดฟพยายามทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเห็นว่าเขาคือผู้นำประเทศและเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ผลสำรวจโพลล์ของสำนักต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๒๐๐๙ ปรากฏว่า ร้อยละ ๑๓ เห็นว่าเมดเวเดฟเป็นผู้นำร้อยละ ๓๒ ให้ปูติน และร้อยละ ๔๘ เห็นว่า คนทั้งสองเป็นผู้นำที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปลาย ค.ศ. ๒๐๐๘-๒๐๐๙ และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสาธารณรัฐจอร์เจีย (Republic of Georgia)* กับสาธารณรัฐอับคาเชีย (Abkhazia Republic) และเขตเซาท์ออสเซเตีย (South Ossetia) ซึ่งต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากจอร์เจียเป็นปัญหาใหญ่ที่เมดเวเดฟไม่สามารถจัดการได้ลุล่วง เขาจึงขอให้ปูตินช่วยแก้ไขซึ่งเปิดโอกาสให้ปูตินได้มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศร่วมกับเมดเวเดฟ และทำให้ช่วงสมัยของเมดเวเดฟมีชื่อเรียกว่า “สมัยประชาธิปไตยคู่ขนาน” (tandemocracy) โดยมีผู้นำฝ่ายบริหาร ๒ คน (dual-headed executive) ร่วมปกครองประเทศปูตินสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้และสนับสนุนให้สาธารณรัฐอับคาเชียและเขตเซาท์ออสเซเดียแยกตัวออกจากจอร์เจีย ซึ่งทำให้นานาประเทศโจมตีปูตินอย่างมาก

 ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ ปูตินและเมดเวเดฟประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลรณรงค์การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงทุกระดับ นโยบายดังกล่าวทำให้ทั้งปูตินและเมดเวเดฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ เมดเวเดฟประกาศสนับสนุนปูตินให้ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีและขอให้คริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์เห็นชอบกับข้อเสนอของเขาซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ในการเลือกตั้งผู้แทนสภาดูมาเดือนธันวาคม แม้พรรคยูไนเต็ดรัสเซียจะยังครองเสียงข้างมากโดยได้ที่นั่ง ๒๓๘ เสียง แต่ก็สูญเสียที่นั่งซึ่งมีอยู่ ๗๗ ที่นั่งให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองอื่น ๆ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน พรรคยูไนเต็ด รัสเซียถูกโจมตีและกล่าวหาว่าใช้วิธีการสกปรกโกงการเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียง การสอดไส้บัตรลงคะแนนเสียงในหีบเลือกตั้ง การใช้อิทธิพลอำนาจแทรกแซงเจ้าหน้าที่รัฐให้เอื้อประโยชน์แก่พรรคตน และอื่น ๆ การโจมตีดังกล่าวมีนัยว่าการผูกขาดอำนาจของปูตินและพรรคยูไนเต็ดรัสเซียกำลังถูกสั่นคลอนและทำให้ปูตินต้องเผชิญศึกหนักในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในเดือนมีนาคมปีต่อมา

 อย่างไรก็ตาม ปูตินในวัย ๕๙ ปีก็สมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดีในนามของพรรคยูไนเต็ดรัสเซียใน ค.ศ. ๒๐๑๒ และมีคะแนนนำเหนือผู้สมัครคนอื่น ๆ อย่างท่วมท้นโดยได้คะแนนเสียงร้อยละ ๖๔.๑๘ ทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๓ ได้ตามหวัง ทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม ปูตินแต่งตั้งเมดเวเดฟเป็นนายกรัฐมนตรีบุคคลทั้งสองประกาศจะร่วมกันทำให้สหพันธรัฐรัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ มีความทันสมัย เข้มแข็ง และก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น.



คำตั้ง
Putin, Vladimir Vladimirovich
คำเทียบ
นายวลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน
คำสำคัญ
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การปฏิวัติสีส้ม
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- การผ่อนคลายความตึงเครียด
- กำแพงเบอร์ลิน
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ครุปสกายา, นาเดจดา
- เคจีบี
- เครือรัฐเอกราช
- โคดอร์คอฟสกี, มีฮาอิล
- ซอบชัค, อะนาโตลี
- นโยบายกลาสนอสต์
- นโยบายเปิด-ปรับ
- เบลารุส
- ปรีมาคอฟ, เยฟเกนี
- ปัญหาเชชเนีย
- ปูติน, วลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช
- เปเรสตรอยกา
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปไตยเสรีแห่งรัสเซีย
- พิธีสารเกียวโต
- เมดเวเดฟ, ดิมีตรี
- ยาคอฟเลฟ, วลาดีมีร์
- ยานูโควิช, วิคตอร์
- ยูเครน
- ยูเชนโค, วิคตอร์
- เยลต์ซิน, บอริส
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- รัฐบริวารโซเวียต
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สเตปาชิน, เซียร์เกย์
- สภาดูมา
- สมัยประชาธิปไตยคู่ขนาน
- สหประชาชาติ
- สหภาพยุโรป
- สหภาพศุลกากร
- สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์
- องค์การการค้าโลก
- องค์การคอมโซมอล
- องค์การยุวชนผู้บุกเบิก
- องค์การสันนิบาตเยาวชน
- องค์การสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์
- อันโดรปอฟ, ยูรี
- แอร์ฮาร์ด, ลุดวิก
- โฮเนคเคอร์, เอริค
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1952-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๙๕-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-